เราเคยได้ยินคำว่า CV กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่เคยได้เรียนรู้กันจริง ๆ สักทีว่า CV คืออะไรกันแน่ ใช้งาน CV อย่างไร และมันแตกต่างจากเรซูเม่ตรงไหนบ้าง ในวันนี้ทีมงาน Resume.in.th เราจะมาไขข้อสงสัยกัน พร้อมทั้งอธิบายถึงวิธีการเขียน CV กันอย่างละเอียด
CV คืออะไร
CV เป็นคำภาษาลาตินย่อมาจาก Curriculum Vitae หรือแปลว่าประวัติชีวิต มันคือเอกสารชุดหนึ่งที่อธิบายถึงประวัติทางการศึกษา และการทำงานของบุคคลหนึ่ง ๆ อย่างละเอียด เพื่อใช้งานในการสมัครงานอย่างเป็นทางการ โดย CV จะเน้นการใส่ข้อมูลทั้งหมดลงไปเพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความรู้จักกับผู้สมัครงานคนนั้นอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ไม่มีการสรุปเพื่อให้สั้นลง มักจะเน้นใช้ CV ในการสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาการเป็นหลัก โดยใน CV นี้ก็จะมีข้อมูลต่าง ๆ คือ
- ข้อมูลการติดต่อของคุณ
- ประวัติการศึกษาโดยละเอียด
- ประวัติการทำงาน
- รางวัลต่าง ๆ ที่เคยได้รับ
- ทุนการศึกษาต่าง ๆ ที่เคยได้รับ
- วิชาที่เคยเรียนมา
- โปรเจกต์และรีเสริชต่าง ๆ ที่เคยทำมา
- ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์
ส่วนมากแล้ว CV จะมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 2-3 หน้า สำหรับในกลุ่มผู้สมัครงานทั่วไป แต่ CV ของผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์โชกโชนก็จะมีความยาวที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามผลงานของแต่ละคน ในบางครั้งเราอาจจะได้เห็น CV ที่มีความยาวเกิน 10 หน้าเลยด้วยซ้ำ ดังที่กล่าวเอาไว้ในตอนแรกว่า CV คือข้อมูลละเอียดของผู้สมัครงาน เราไม่มีการตัดข้อมูลอะไรทิ้งเพื่อจำกัดความยาวของหน้าลง มีอะไรเราจะใส่มันลงไปให้หมดแบบไม่กั๊ก
เรซูเม่คืออะไร
เรซูเม่ (Resume) เป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าสรุป ดังนั้นเรซูเม่คือ เอกสารสรุป ที่เน้นสรุปประวัติของผู้สมัครงาน ในรูปแบบย่อที่สรุปประวัติส่วนตัวลงในเอกสารที่มีความยาวจำกัดที่ 1-2 หน้า เป้าหมายคือให้ HR ผู้อ่านเรซูเม่สามารถทำความเข้าใจกับบุคคลคนหนึ่ง ๆ ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที เรซูเม่จึงมุ่งเน้นไปที่สั้น กระชับ และได้ใจความ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ CV ที่เน้นใส่รายละเอียดทั้งหมดลงไปจนมีความยาวหลายหน้านั่นเอง
ผู้สมัครงานที่ประสบความสำเร็จ มักจะเขียนเรซูเม่ 1 ใบ ต่อตำแหน่งงานที่จะสมัคร 1 ตำแหน่ง เพราะว่าพวกเขาสามารถเลือกเน้นประวัติในบางช่วงของเรซูเม่ ให้ตรงกับตำแหน่งงานที่จะสมัครได้ เช่นถ้าหากคุณเคยทำงานพนักงานขาย ที่เคยขายสินค้ามาหลายตัว แต่คุณจะสมัครงานตำแหน่งที่จะต้องขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คุณก็จะเขียนเรซูเม่ของตัวเองให้เน้นประสบการณ์ด้านที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้มากกว่าอย่างอื่น เป็นต้น
CV และเรซูเม่ แตกต่างกันอย่างไร?
อย่างที่ได้อธิบายไปในตอนต้นแล้วว่า CV คือเอกสารที่เขียนรายละเอียดของผู้สมัครงานทั้งหมดลงไป ส่วนเรซูเม่คือเอกสารสรุปประวัติของผู้สมัครงานคนนั้น ๆ ทีมงาน Resume.in.th ได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง CV และเรซูเม่ลงในตารางนี้แล้วครับ
CV | เรซูเม่ |
---|---|
Curriculum Vitae มาจากภาษาลาตินแปลว่า "ประวัติชีวิต" | Resume มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "สรุป" |
เน้นประวัติการศึกษา ผลงานวิชาการ | เน้นประสบการณ์การทำงาน และสกิลต่างๆ |
ใช้เพื่อสมัครงานทางด้านวิชาการเป็นหลัก | ใช้สมัครงานทั่ว ๆ ไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการ |
มีรูปแบบเดียวคือเรียงข้อมูลตามเวลา | มีสามรูปแบบคือสามารถเรียงข้อมุลตามเวลา ตามความเหมาะสม หรือจะผสมผสานกันก็ได้ทั้งนั้น |
มีความยาว 2-3 หน้าหรือมากกว่านั้น | มักจะยาวเพียง 1-2 หน้าเท่านั้น |
ส่วนของประวัติการศึกษาจะอยู่ด้านบนสุดเสมอ | ส่วนของประวัติการศึกษามักจะอยู่ล่างสุด ในกรณีของผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์ |
เนื่องจากใช้ในการสมัครงานวิชาการ จึงใช้ธีมเรียบ ๆ วิชาการ ไม่มีลูกเล่นอะไร | สามารถตบแต่งเรซูเม่ด้วยสีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อความสวยงามได้ |
เพื่อให้บทความนี้ของเราเน้นทำความรู้จักกับ CV เป็นหลัก เราจะหยุดพูดถึงเรซูเม่แล้วล่ะ หากคุณสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความแตกต่างระหว่าง CV และ Resume ได้ในอีกบทความหนึ่งที่เราเขียนขึ้นได้ด้วยครับ
คุณจะต้องรู้ตัวก่อนว่าจะทำ CV หรือ Resume กันแน่นะ !?
ก่อนที่คุณจะเริ่มทำงานใด ๆ ก็ตาม คุณจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่าคุณต้องการจะทำอะไร มีเป้าหมายอย่างไร ในกรณีนี้คือคุณจะต้องรู้ตัวแล้วล่ะว่าคุณจะทำ CV หรือจะทำเรซูเม่กันแน่นะ เลือกให้ถูกซะก่อนแล้วค่อยเริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการนะครับ
หรือถ้ามาถึงจุดนี้แล้วคุณเริ่มรู้ตัวแล้วล่ะว่าไม่ได้ต้องการจะทำ CV แต่คุณต้องการจะทำเรซูเม่ต่างหาก ก็สามารถใช้ระบบทำเรซูเม่ออนไลน์ของ Resume.in.th ได้ที่นี่เลยครับ
ทำเรซูเม่ออนไลน์ฟรี
แต่ถ้าคุณมั่นใจแล้วล่ะว่ามาถูกทางแล้ว และคุณจำเป็นต้องใช้ CV ยาวเพื่อสมัครงานเกี่ยวกับวิชาการแล้วล่ะก็ ขอให้ไปต่อกันกับเราได้เลย เรามีเทคนิควิธีเขียน CV พร้อมเช็คลิสต์ต่าง ๆ มาฝากคุณกัน ตรงนี้อาจจะยาวสักนิด ถ้าหากาแฟหรือขนมมากินไปอ่านไปคู่กันได้ก็ไม่เลวนะครับ
วิธีการเขียน CV
เมื่อคุณต้องเขียน CV ของตัวเองขึ้นมาก็ขอให้ย้อนนึกถึงเป้าหมายของ CV กันสักนิดว่าคือการบรรยายประวัติส่วนตัวของคุณอย่างละเอียดลงไปในเอกสาร ดังนั้นคุณจะต้องเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณลงไปอย่างไม่กั๊ก และเนื่องจากมันเป็นเอกสารวิชาการ คุณจึงจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนมันขึ้นมา ถ้าหากว่าคุณไม่เก่งอังกฤษแล้วก็คงจะทำให้การสมัครงานของคุณไม่ราบลื่นอย่างแน่นอน
1. ใช้ธีมวิชาการในการทำ CV
ณ จุดนี้คุณจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณไม่สามารถใช้ธีมเรซูเม่ที่มีสีสันสวยงาม เนื่องจาก CV เป็นเอกสารสรุปประวัติของคุณในแนววิชาการ เพื่อสมัครงานวิชาการ ดังนั้นคุณก็จะต้องเใช้ธีมแบบธรรมดาที่สุด ด้วยกระดาษสีขาว ตัวอักษรสีดำ และการตบแต่ง CV ของคุณก็จะต้องเป้นไปตามหลักการเขียนหนังสือวิชาการ การใช้ตัวหนา ตัวเอียง ไปจนกระทั่งการขีดเส้นใต้
2. ใส่ข้อมูลการติดต่อของคุณ
ข้อมูลการติดต่อของคุณจะเริ่มจากชื่อและนามสกุลก่อนเลย ต่อด้วยวิธีการติดต่อเช่น e-mail และเบอร์โทรศัพท์ ส่วนที่อยู่ถือว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ให้ใส่ลงไปเพียงเมืองหรือจังหวัดที่คุณอยู่ และหากคุณสมัครงานที่ต่างประเทศก็ให้ใส่รัฐ และรหัสไปรษณีย์ของคุณลงไปด้วยก็พอ
จังหวัด หรือเมืองที่คุณอยู่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้รับสมัครงานสามารถทำความเข้าใจได้ทันทีว่าคุณอยู่ห่างจากสถานที่ทำงานที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่มากหรือน้อยเพียงไหน และคุณสามารถเดินทางไปทำงานได้หรือไม่นั่นเอง ในกรณีนี้คุณสามารถใส่ชื่อเมืองที่คุณสะดวกจะย้ายไปพักได้เช่นกัน มันจะเพิ่มโอกาสที่คุณจะได้งานมากขึ้นอีกสักนิดนึงก็ยังดี
3. ใส่ประวัติการศึกษาของคุณลงไปอย่างละเอียด เรียงจากใหม่ไปเก่า (ล่าสุดอยู่บน)
ส่วนที่มีความสำคัญมาก ๆ ส่วนแรกสุดคือประวัติการศึกษาของคุณ ที่คุณจะต้องใส่ลงไปอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่คุณสามารถจะใส่มันลงไปได้ ระดับวุฒิ ชื่อมหาวิทยาลัย ชื่อคณะ วิชาเอก วิชาโท รายชื่อธีสิส และผลงานวิชาการต่าง ๆ ที่คุณได้ผ่านมา
โดยให้เรียงจากใหม่ไปเก่าเสมอ (ล่าสุดอยู่บน) เน้นเรียงตามปีที่คุณได้จบการศึกษามา (หรือกำลังศึกษาอยู่) โดยคุณไม่จำเป็นจะต้องใส่วันที่ที่ชัดเจนลงไปหรอกนะ คือใส่ได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร คุณสามารถใส่ข้อมูลลงไปได้รวมไปถึง Post-doctoral (คอร์สที่สูงกว่าดอกเตอร์ขึ้นไปอีก) ลงไปได้หมดเลยนะ
4. ใส่ประวัติการทำงานของคุณลงไปอย่างละเอียด เรียงจากใหม่ไปเก่า (ล่าสุดอยู่บน)
ใส่ประวัติการทำงานของคุณลงไปอย่างละเอียด โดยหากคุณเคยทำงานมาหลายที่แล้วก็ให้ใส่งานล่าสุดอยู่ด้านบน และเรียงลงไปจนถึงงานเก่าสุดที่อยู่ด้านล่าง ใส่ชื่อบริษัทหรือองค์กรที่คุณทำงานด้วยให้ชัดเจน เขียนชื่อบริษัทเต็ม ๆ ไม่ใช้ชื่อย่อ หรือสะกดชื่อบริษัทของคุณผิด ใส่ตำแหน่งงาน หน้าที่การทำงาน โดยให้เน้นใช้บุลเล็ตเพื่อสรุปข้อมูลต่าง ๆ ให้อ่านง่ายและเป็นระเบียบ
แกรมม่าร์ต้องเป๊ะก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องเขียนให้เป็นประโยค แต่ให้เขียนเริ่มต้นในแต่ละบุลเล็ตของคุณด้วย Verb แทน เพื่อให้อ่านง่ายและตัดการใช้คำเวิ่นเว้อต่าง ๆ
ใส่ตัวเลขต่าง ๆ ที่คุณได้ทำในตำแหน่งงานนั้นๆให้กับบริษัทต่างๆลงไปด้วย เช่น จำนวนกำไร ที่คุณสามารถเพิ่มให้กับบริษัทนั้น ๆ จำนวนงานที่เพิ่มขึ้น เมื่อคุณได้ช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ที่คุณได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้น ไปจนกระทั่ง จำนวนพนักงาน ที่คุณได้กำกับและดูแลภายใต้การบริหารทีมงานของคุณเป็นต้น
5. ใส่สกิลและทักษะต่าง ๆ ของคุณ
นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญใน CV ของคุณที่คุณจะต้องใส่สกิลและทักษะต่าง ๆ ของคุณลงไปทั้งหมด รวมไปถึง hard skills เช่นการคำนวน และ soft skills ต่าง ๆ เช่นการจัดการบริหารผู้คนเป็นต้น
6. ใส่รางวัล ทุนการศึกษา และผลงานทางวิชาการของคุณลงไป
นี่เป็นจุดที่ทำให้ผู้สมัครงานสามารถเรียกเงินเดือนสูง ๆ ได้ ถ้าหากคุณได้รับรางวัลทางวิชาการ หรือมีผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ก็ให้ใส่ลงไปในส่วนนี้ให้หมด อย่าเหลือไว้ ใส่ปีที่ได้รับรางวัล ชื่อรางวัล และชื่อสถาบันที่แจกรางวัลเหล่านั้นด้วยนะ
7. ใส่ผลงานวิชาการที่ได้รับการนำเสนอ หรือตีพิมพ์ของคุณลงไป
ถ้าหากคุณเคยขึ้นไปกล่าวอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเคยได้รับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการด้วยแล้ว ก็ให้ใส่ลงไปในส่วนนี้ให้ละเอียดด้วย โดยให้ใส่ตามหลักการ citing ที่คุณเคยได้ใช้มาแล้วตอนเขียนวิทยานิพนธ์ หรือในบทความวิชาการของคุณ ใส่ให้ครบ ๆ ตั้งแต่ชื่อผู้เขียนบทความ วันที่ตีพิมพ์ เล่มที่ เลขหน้า และเลข DOI ส่วนถ้าเป็นการบรรยายก็ให้ใส่วันที่ ชื่องาน และสถานที่ลงไปด้วย
8. ใส่รายชื่อสมาคมวิชาชีพ และองค์กรที่คุณมีส่วนร่วมลงไป
อย่าลืมใส่ชื่อองค์กรให้ถูกต้อง และเป็นชื่อเต็ม หากมีชื่อย่อก็ให้ใส่ชื่อเต็มลงไปด้วยทุกครั้ง และอย่าสะกดผิดเด็ดขาดเพราะจะทำให้คุณดูไม่ดี ใส่สถานที่ตั้งขององค์กรนั้น ๆ และช่วงเวลาที่คุณได้มีส่วมร่วมกับองค์กรนั้น ๆ ด้วย
9. อ่านทบทวน proofread และอัพเดท CV ของคุณอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
ก่อนที่จะส่ง CV ของคุณเพื่อสมัครงานทุกครั้งก็ขอให้ proofread อ่านทบทวนและแก้ไขในสิ่งที่ผิดของ CV ของคุณก่อน นี่เป็นสิ่งที่นักวิชาการทุกคนควรจะทำเป็นประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว และอย่าลืมว่า CV ของคุณอันนี้ใช้สมัครงานทางวิชาการ ดังนั้นความถูกต้องของข้อมูล การเรียงข้อมูล ตัวสะกดต่าง ๆ จึงจะต้องเป๊ะ 100% ไม่ควรจะมีสิ่งที่ผิดพลาดอะไรอยู่ในนั้น
บทสรุป
สุดท้ายให้ส่งไฟล์ CV เพื่อสมัครงานด้วยรูปแบบ PDF ส่งจากอีเมล์ที่เป็นทางการของคุณ เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด สุดท้ายนี้ขอให้คุณโชคดี เขียน CV ที่ดีที่สุดของตัวเองขึ้นมาได้ และได้งานที่ใฝ่ฝันถึง ด้วยเงินเดือนที่คุณพอใจ ขอบพระคุณมากที่คุณอ่านมาจนจบถึงย่อหน้าสุดท้ายนี้ ถ้าหากว่าคุณได้รับประโยชน์อะไรจากบทความนี้ของพวกเรา พวกเราก็มีความสุขแล้วครับ